ถ้าท่านเป็นคนหนึ่งที่ชอบทำอาหาร คงจะสังเกตได้ว่ามะพร้าวกะทิ หรือกะทิถุงที่เราทำอาหารนั้น มีราคาที่ขยับสูงขึ้น ด้วยกลไกทางธรรมชาติที่มะพร้าวในช่วงหน้าแล้งก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ดูเหมือนปัญหาที่ซ้ำเติมเกษตรกรในอีกด้านหนึ่งคือการลักลอบนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรอย่างผิดกฎหมาย เพื่อสวมรอยเป็นมะพร้าวในประเทศ ได้นำปัญหาต่างๆเข้ามายังพี่น้องชาวสวนมะพร้าวเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องราคาที่ตกต่ำและปัญหาโรคและแมลงที่มากับผลผลิตเหล่านั้น ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็จะมีผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวจำนวนไม่น้อยร้องเรียนต่อภาครัฐในเรื่องของผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ทั้งๆที่ความต้องการมะพร้าวในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ  ที่มีทั้งเข้ามาอย่างถูกกฎหมายและมีการลักลอบนำเข้า จะเห็นได้ว่ามีการจับกุมผู้กระทำความผิดได้ครั้งละจำนวนนับสิบตันเลยทีเดียว นอกจากนี้เกษตรกรก็ยังประสบกับปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชคือแมลงดำหนามและหนอนหัวดำ โดยเฉพาะหนอนหัวดำเป็นแมลงศัตรูมะพร้าวต่างถิ่นที่ระบาดเข้ามาในไทย  สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทยจำนวนมาก ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำทำลายจะมีใบแห้ง และมีสีน้ำตาล ผลผลิตลดลง หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้  ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้เผยแพร่แนวทางการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้สารเคมีสำหรับต้นมะพร้าวที่มีความสูงเกิน 12 เมตร ให้ใช้วิธีฉีดเข้าที่ลำต้น แต่ห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ หรือมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาลมะพร้าว  ส่วนต้นที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ หรือมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาลมะพร้าวและอยู่ในพื้นที่ระบาดรุนแรง จะใช้วิธีพ่นสารเคมีทรงพุ่ม ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ เกษตรกรจะต้องใช้สารเคมีในสัดส่วนและปริมาณที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำอย่างเคร่งครัด ส่วนวิธีธรรมชาติที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่งโดยการใช้แตนเบียนบราคอนควบคุมหนอนหัวดำ  หากสามารถปล่อยแตนเบียนตัวเต็มวัยในอัตรา 200 ตัวต่อไร่  ยิ่งปล่อยได้มากก็จะทำให้เห็นผลเร็วขึ้น โดยจากผลการปฏิบัติที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรพบว่าวิธีที่ดีที่สุดต้องใช้ทั้งวิธีธรรมชาติและสารเคมีผสมผสานกัน เพราะสารเคมีเป็นวิธีที่ช่วยยังยั้งการระบาดของหนอนหัวดำได้ แต่วิธีการใช้แตนเบียนควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว จะเป็นการป้องกันที่ให้ผลยั่งยืน ซึ่งการกำจัดศัตรูมะพร้าวไม่ใช่ปัญหาของสวนใดสวนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในชุมชน เพราะหากยังมีสวนใดที่มีปัญหานี้อยู่ ก็จะยังสามารถแพร่ระบาดไปยังสวนใกล้เคียงต่อไปไม่จบสิ้น

เมื่อวันที่ ๒๘ ก.พ.๒๕๖๓ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  แหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญของประเทศ นายอำเภอทับสะแกได้นำเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรอำเภอและนักวิชาการ เข้ารวมตัวเข้ามาพูดคุยถึงปัญหา ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่  ๑  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  นำโดย พล.ท.พิชัย  เข็มทอง ผอ.ศปป๑  กอ.รมน. ลงพื้นที่เป็นผู้ประสานงานและจัดเวทีการพูดคุยใน “โครงการปฏิรูปสังคมแบบมีส่วนร่วมของประชาชน(สานเสวนา)” โดยหัวข้อที่มีการพูดคุยกัน ได้แก่ เรื่องของราคาที่เกิดจากกลไกทางการตลาดและปัญหาน้ำแล้งจนทำให้ต้นมะพร้าวออกผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งกอ.รมน.รับไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เกษตรกรเผยว่าที่ผ่านมาหน่วยงานของภาครัฐได้มีการเข้ามาให้องค์ความรู้ โดยการจัดเป็นแปลงสาธิตการฉีดพ่นยาเพื่อกำจัดหนอนหัวดำอย่างถูกวิธีและปลอดภัย แต่เกษตรกรก็ยังติดปัญหาเรื่องต้นทุนด้านแรงงานที่สูงจนไม่สามารถมาเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มได้อีก  ในครั้งนี้จึงมีนักวิชาการเข้ามาพูดคุยและรับฟังความต้องการของเกษตรกร  รวมไปถึงการลงพื้นที่เพื่อติดตามดูวิธีการกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ เพื่อนำไปศึกษาและวิจัยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อีกครั้ง

 นายประเวศ รุ่งรัศมี เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว ที่ใช้วิธีธรรมชาติกล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ปลูกมะพร้าวเป็นหลัก ปัญหาที่พบเจอเกิดจากศัตรูพืชหนอนหัวดำ ภัยแล้ง และราคามะพร้าว โดยการแก้ปัญหาศัตรูพืชหนอนหัวดำ ได้เพาะเลี้ยงแตนเบียนบราคอนเอง และปล่อยแตนเบียนบราคอน จำนวน 400-500 ตัวต่อเดือน เพื่อให้กำจัดหนอนหัวดำในมะพร้าว พร้อมกันนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรคนอื่นๆได้รู้จักและเข้าใจธรรมชาติของหนอนหัวดำมะพร้าว รวมทั้งถ่ายทอดความรู้การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำด้วยวิธีผสมผสานโดยเฉพาะการใช้แตนเบียนบราคอนซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของหนอนหัวดำมะพร้าว เข้าทำลายในระยะหนอน สามารถใช้ควบคุมหนอนหัวดำได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ปัญหาการระบาดลดลง  และยังฝากถึงกลุ่มเกษตรกรหากถ้าเกิดใครสนใจอยากจะเรียนรู้ก็สามารถถ่ายทอดให้ได้

พล.ท.พิชัย เข็มทอง ได้กล่าวถึงบทบาทของ ศปป.๑ กอ.รมน.ว่าการทำงานแบ่งเป็นการจัดเวทีสานเสวนาเพื่อรับฟังปัญหาและหาวิธีการแก้ไขปัญหา   ในการจัดเสวนาจะอยู่ในแผนพัฒนาการเมืองซึ่งเป็นกระบวนการปรึกษาหารือเพื่อให้ได้แนวทางในการจัดการปัญหา และเมื่อทราบถึงแนวทางในการแก้ปัญหาเช่นปัญหาแมลงศัตรูพืชแล้ว  ส่วนที่สองคือส่วนแผนรักษาความมั่นคงของมนุษย์ จะเข้าส่งเสริมให้ความรู้ในด้านต่างๆเช่นในการกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยใช้วิธีทางธรรมชาติ คือการเลี้ยงตัวเบียน  เพื่อปล่อยในสวนมะพร้าวให้ตัวเบียนไปกินหนอนหัวดำที่เป็นศัตรูพืช ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ปลอดภัย  ต้นทุนต่ำและได้ผลดี  การส่งเสริมอาชีพอื่นๆที่ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวเช่นการทำโลชั่นบำรุงผิว  ทำสบู่  หรือน้ำมันมะพร้าว และผลิตภัณฑ์อื่นจากมะพร้าว  งานทั้งหมดนี้จะอยู่ในการดูแลของศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๑ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาพรวมของปฏิบัติการของแผนพัฒนาการเมืองและแผนรักษาความมั่นคงของมนุษย์ เป้าประสงค์ คือ ความมั่นคงแห่งรัฐ และยังฝากถึงกลุ่มเกษตรกร ทุกกลุ่มว่า การแก้ปัญหา ต้องเริ่มต้นเกิดจากการแก้ปัญหาในพื้นที่ของแต่ละตนเองก่อน  โดยไม่รอให้รัฐมาแก้ปัญหาให้  การแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน เป็นการปลูกฝังในเรื่องหน้าที่พลเมือง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาการเมือง